การสร้างบ้านหนึ่งหลัง หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แม้ทุกวันนี้จะมีสินเชื่อบ้านมากมายให้กู้ แต่การหวังพึ่งเพียงน้ำบ่อหน้า อาจไม่เพียงพอ เพราะการจะซื้อบ้านยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาของบ้าน อีกทั้ง ยังมีปัจจัยบางปัจจัยที่อาจทำให้คุณไม่สามารถขอวงเงินผ่อนและดาวน์บ้านได้เต็มจำนวน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ในวันนี้ก็คือการเตรียมตัวเก็บเงินให้พร้อม ไม่ใช่เฉพาะแค่ส่วนต่างและค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย แต่ยังเผื่อสำหรับเรื่องที่ไม่คาดคิดในอนาคตซึ่งอาจทำให้คุณไม่สามารถมีบ้านได้อย่างที่ตั้งใจ
การเก็บเงินก้อนใหญ่สำหรับซื้อบ้านต้องอาศัยความมุ่งมั่น แน่วแน่ ซึ่งเส้นทางที่จะเดินต่อไปนั้น อาจยาวไกลจนอาจทำให้คุณท้อก่อนถึงจุดหมายได้ การรู้วิธีและขั้นตอนการเก็บเงินที่ดีก็เปรียบเสมือนแผนที่บอกเส้นทางที่ถูกต้อง และคุณยังสามารถติดตามได้ว่าจุดที่ยืนอยู่นั้น เข้าใกล้บ้านที่เป็นจริงเท่าไรแล้ว
ในบทความชิ้นได้ได้รวบรวมขั้นตอนการเก็บเงินซื้อบ้านที่นำไปใช้ได้จริงที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามได้ 5 ขั้นตอนต่อไปนี้
1. ตั้งเป้าหมายเก็บเงินซื้อบ้านก้อนแรก
เพื่อให้ความฝันการมีบ้านของคุณเป็นจริงได้ อาจไม่ได้หมายถึงการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านเต็มจำนวนเงิน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ระยะทางความฝันของคุณคงยาวไกลถึง 10-20 ปี วิถีที่ย่นระยะเวลาเพื่อจะมีบ้านได้นั้นก็คือสินเชื่อบ้าน ดังนั้น เป้าหมายการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านจึงอาจไม่ใช่การเก็บเงินเต็มจำนวนเพื่อซื้อบ้านเป็นล้านบาท แต่เป็นการเก็บเงินส่วนที่จำเป็นสำหรับการผ่อนบ้าน ซึ่งสิ่งที่ใช้กำหนดเป็นเป้าหมายก็คือ จำนวนเงินก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้าน
เนื่องจากธนาคารโดยทั่วไปจะให้วงเงินในการกู้สินเชื่อประมาณ 80-95% หรือธนาคารบางแห่งและสินเชื่อบางโครงการก็อาจให้ได้ถึง 100% ของราคาประเมินบ้านหลังหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติขอกู้และเงื่อนไขการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคาร) ทำให้เงินส่วน 5-15% เป็นส่วนที่คุณต้องออกเองก่อนเพื่อที่จะดาวน์บ้าน นอกจากนี้ ยังมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่ ค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2% ค่าจดจำนอง 1% และอื่นๆ อีกราว 2% ของราคาบ้าน ทำให้เมื่อรวมกันแล้วจำนวนเงินก้อนแรกที่ต้องมีสำหรับดาวน์บ้านก็คือ 5-20% ของราคาบ้าน
ยกตัวอย่างเช่น
นาย ก ต้องการซื้อบ้าน ราคา 2,000,000 บาท
นาย ก ต้องมีเงิน 20% ของราคาบ้าน ได้ 2,000,000 x 20% = 400,000 บาท
จะเห็นได้ว่า การกำหนดเป้าหมายเป็นจำนวนเงินก้อนแรกที่จำเป็นจริงๆ ทำให้เป้าหมายไม่ห่างไกลเกินไป ทำให้มีกำลังใจในการเก็บออมมากขึ้น เพราะสามารถเป็นไปได้มากกว่า ในกรณีของ นาย ก หากต้องการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านในราคานี้ 3 ปี นาย ก ก็จะต้องเก็บเงินเดือนละ 400,000 บาท / (12 เดือน x 3 ปี) = 11,111 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สามารถทำได้มากกว่าการตั้งเป้าหมายเป็นราคาเต็มของบ้าน
2. สำรวจรายจ่ายและวางแผนการเงิน
หลายคนอาจคุ้นเคยว่า การจดบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เราสามารถทราบพฤติกรรมการใช้เงินของเราได้ และเมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว ก็จะรู้ว่าเราใช้จ่ายไปกับเงินส่วนไหนบ้างซึ่งสามารถนำมาพิจารณาลดรายจ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ทั้งนี้ การบันทึกการใช้จ่ายในแต่ละวันก็ดูเป็นเรื่องยุ่งยาก และหลายคนก็อาจล้มเลิกไปหลายครั้งแล้ว ปัญหาจึงอาจอยู่ที่เป้าหมายการทำบัญชีที่ไม่ชัดเจน
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่เคยประสบปัญหานี้ ปัญหาอาจอยู่ที่การขาดเป้าหมาย เพราะเพียงแค่บันทึกไว้และคอยติดตามว่ารายจ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็นอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่คุณควรทำเพิ่มคือการวางแผนทางการเงิน
การวางแผนทางการเงินนั้น ให้เริ่มต้นจากตั้งเป้าหมายว่าคุณต้องการอะไร และการติดตามรายการใช้จ่ายของคุณเองในหนึ่งเดือนก็คือข้อมูลที่คุณจะนำมาวางแผนต่อว่า คุณมีรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนเท่าไร รายจ่ายเหล่านั้น คิดเป็นร้อยละเท่าไรของรายได้ต่อเดือน เป็นต้น และคุณจะเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านกี่เปอร์เซ็น
ยกตัวอย่าง
คุณมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท และติดตามรายจ่ายของตนเองแล้ว มีรายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร เครื่องใช้ต่างๆ ค่าสิ่งของอุปโภค ค่าเดินทาง และค่าเช่าที่พัก รวมเป็นเงิน 10,000 บาท หรือ 50% ของรายได้ มีเงินเหลืออีก 10,000 บาท หรือ 50% ของรายได้ คุณอาจแบ่งใช้เพื่อความบันเทิง และแบ่งออมเป็นเงินสำหรับซื้อบ้านกี่เปอร์เซ็น ซึ่งหัวใจสำคัญคือการแบ่งใช้เงินตามเปอร์เซ็นที่ตั้งใจไว้
3. ตัดเงินเข้าบัญชีเงินออมที่ฝากเท่ากันทุกเดือน
ข้อแนะนำในการเก็บเงินให้อยู่ก็คือ การเก็บก่อนใช้ จากแผนการเงินที่คุณทราบแนวทางแล้ว คุณก็มีเป้าหมายว่าจะต้องเก็บเงินซื้อบ้านต่อเดือนจำนวนเท่าไร โดยให้ผูกบัญชีที่รับเงินเดือนหรือรายได้ของคุณเข้ากับบัญชีฝากประจำสำหรับออมเงินเพื่อกันโอกาสถอนเงิน ซึ่งคุณสามารถตั้งระยะเวลาฝากได้ เช่น 24 เดือน 36 เดือน หรือ 60 เดือน ง่ายต่อการวางแผนออมเพื่อซื้อบ้าน จากนั้นจึงตั้งระบบโอนเงินเข้าทุกเดือนโดยอัตโนมัติในตอนต้นเดือน
วิธีนี้จะทำให้คุณออมเงินได้ตามที่ต้องการ และหากเดือนใดที่คุณอยากออมมากขึ้น ก็แค่นำเงินไปฝากเพิ่มเติมเพียงเท่านั้น
ตัวอย่างการออมเงิน
หากคุณออมเงิน 7,000 บาท ต่อเดือน ในหนึ่งปีคุณก็จะมีเงิน 7,000 x 12 (เดือน) = 84,000 บาท และหากยกกรณี นาย ก ที่ต้องการซื้อบ้านราคา 2,000,000 บาท ที่ต้องเตรียมเงินก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้าน 20% คือ 400,000 บาท ดังนั้น หากนาย ก ออมเงินเดือนละ 7,000 บาท หรือปีละ 84,000 บาท ก็จะต้องใช้เวลาราว (400,000 / 84,000) 4 ปี 7 เดือน ซึ่งการตั้งเป้าหมาย วางแผนการเงิน และตัดบัญชีอัตโนมัติจะช่วยให้การออมเงินของคุณขยับเข้าใกล้ความจริงอยู่เสมอ
นอกจากนี้ หากไม่มั่นใจว่าคุณควรสร้างเครดิตหรือความน่าเชื่อถือให้ statement อย่างไร ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ที่นี่ หรือสาขาใกล้เคียงที่ท่านสะดวก เพื่อให้คุณมีโอกาสยื่นสินเชื่อผ่านได้ง่ายขึ้น และอาจรวมถึงวงเงินกู้ที่สูงขึ้นอีกด้วย
4. ลงทุนให้เงินออมเติบโต
การออมเงินธรรมดาที่หักเงินในแต่ละเดือนที่ใช้เวลาระยะหนึ่ง หากต้องการให้เงินออมในส่วนนี้เติบโตเข้าใกล้บ้านที่เป็นจริงมากขึ้น หนึ่งในวิธีนั้นก็คือการลงทุน
การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบทั้งกองทุนรวม ตราสารหนี้ ซื้อพันธบัตร หุ้น กองทุนรวมหุ้น หรือสลากออมทรัพย์ ฯลฯ คุณก็สามารถเลือกประเภทการลงทุนที่เหมาะสมกับคุณได้ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลพอร์ตให้ อาจได้กำไรเฉลี่ยปีละ 5-10% ที่มากกว่าผลตอบแทนฝากเงินประจำ (0.5-2%) หรือการซื้อสลากออมทรัพย์ระยะเวลา 3 – 5 ปี ก็เป็นการเก็บเงินที่มั่นคงและมีลุ้นได้ผลตอบแทนแบบสลากกินแบ่งอีกด้วย ทั้งนี้ การลงทุนไม่ว่าจะประเภทใดก็มีความเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนสูงก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง
นอกจากผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนซึ่งสามารถนำมาออมเป็นเงินก้อนที่ใหญ่มากขึ้นแล้ว ยังมีกองทุนบางประเภท เช่น RMF และ LTF ที่ช่วยให้คุณนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกถึง 15% ของรายได้ (แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท) ทำให้คุณลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกต่อหนึ่งด้วย
5. หารายได้ทางอื่น
อีกทางที่อาจเป็นวิธีเก็บเงินเพิ่มเติมให้คุณมีเงินก้อนสำหรับซื้อบ้านที่ใหญ่ขึ้นก็คือการหารายได้เสริม คุณอาจเปลี่ยนความชอบ ความสามารถ หรืองานอดิเรกของตนเองเป็นอาชีพเสริม เช่น เขียนบทความ วาดรูป ถ่ายรูป หรือตกแต่งภาพ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ เมื่อจะเลือกทำงานเสริมก็ต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนงานหลัก เพราะหากกระทบกระเทือนแล้ว ผลสุดท้ายอาจไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาความคุ้มค่าของต้นทุนที่เป็นเวลาหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือค่าดูแลตัวเองเพิ่มเติมเพื่อให้คุณสามารถทำงานได้มากขึ้น
สรุป
อยากซื้อบ้านในฝัน แม้จะเป็นเรื่องใหญ่เพราะมีอะไรต้องคิด และต้องวางแผนอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป สิ่งเล็กๆ อย่างการเก็บเงินเปรียบเสมือนก้าวแรกในการออกเดินทาง ด้วยขั้นตอนการเก็บเงินที่รวบรวมมาในบทความนี้ น่าจะเป็นแผนที่ที่ช่วยให้คุณเก็บเงินซื้อบ้านได้อย่างใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก ghbank
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น